ไม่ขออยู่ร่วมชายคา ...
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายครอบครัว ตอนที่ 2 “ไม่ขออยู่ร่วมชายคา วิธีการนั้นเป็นฉะนี้”
โดย ศักดา บัวลอย
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แถบประเทศยุโรปมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจไปในทางอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมทั้งประเทศสวิตเซอรแลนด์ก็เช่นเดียวกัน สถาบันครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากครอบครัวใหญ่เปลี่ยนมาเป็นครอบครัวเล็ก สิทธิความเสมอภาคระหว่างชายหญิง รวมทั้งการสมรสข้ามวัฒนธรรม ตลอดทั้งบริบททางสังคม และวิถีชีวิตก็แตกต่างไปจากยุคเก่า การหย่าร้างเกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา จากข้อมูลสถิตของกระทรวงสถิติแห่งชาติประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สถิติการหย่า[1]เมื่อปี ค.ศ. 2000 อยู่ที่ 25.6% เพิ่มขึ้นมาเป็น 41.15% ในปี ค.ศ. 2016 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนับว่าสูงมากทีเดียวในแถบทวีปยุโรป
การแยกกันอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันนี้ ไม่ได้ถือว่า เป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับเหมือนเมื่อหลายสิบทศวรรษที่ผ่านมา ตามประมวลกฏหมายแพ่งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาตรา 175 (ZGB Art.175) [2] ระบุไว้ว่าคู่สมรสสามารถยกเลิกการใช้ชีวิตร่วมกันได้ ถ้าหากการใช้ชีวิตร่วมกันต่อไปนั้น จะเป็นผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อความเป็นส่วนตัว ต่อเศรษฐกิจ หรือต่อความผาสุกของครอบครัว ตามที่เกริ่นไว้ในตอนที่ 1 (นิตยสารดี ฉบับที่ 21/2017) เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจในการเลือกทางเดินชีวิตครอบครัวของคู่สมรส (ในที่นี้รวมถึงการจดทะเบียนคู่ชีวิตเพศเดียวกันด้วย) มาดูกันว่า หากไม่สมัครใจที่จะอยู่ร่วมกันอีกต่อไป จะแยกทางกันไม่ว่าจะเป็นการแยกกันอยู่เพื่อรอวันหย่า หรือแยกเพื่อทบทวนความสัมพันธ์ จะต้องจัดการอย่างไร ผมขอตั้งหัวเรื่อง บทความฉบับนี้ ว่า “ไม่ขออยู่ร่วมชายคา วิธีการนั้นหนา เป็นฉะนี้...” เริ่มกันด้วยรูปแบบของการแยกกันอยู่
รูปแบบ การแยกกันอยู่ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์
- แยกกันอยู่โดยพฤตินัย คู่สมรสทำสัญญาข้อตกลงระหว่างกันเองโดยไม่ต้องขึ้นศาล แต่มีข้อเสียคือ ถ้าในกรณีที่อีกฝ่ายไม่ทำตามสัญญา คู่กรณีจะต้องยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลครอบครัว เพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฏหมายต่อไป
- แยกกันอยู่โดยนิตินัย โดยการยื่นขออำนาจศาลตัดสินให้แยกกัน ตามประมวลกฏหมายแพ่ง (Gerichtliche Trennung ZGB Art. 1722 [3] )
- การแยกโดยคำสั่งศาลเพื่อเป็นการคุ้มครองคู่สมรส (Eheschutz ZGB Art. 1723 [4]) ในกรณีที่ไม่สามารถครองเรือนร่วมกันต่อไปได้ อันเนื่องจากสาเหตุร้ายแรง เช่นโดนข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง
การยื่นเรื่องขออำนาจศาล เพื่อขอแยกกันอยู่เป็นทางการนั้น สามารถยื่นเรื่องได้ที่ศาลแพ่ง[5]ในเขตที่พักอาศัยของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ได้ จะใช้ทนายช่วยเหลือทำข้อสัญญาเกี่ยวกับเรื่องข้อตกลงระหว่างคู่สมรสหรือไม่ก็ได้ (เรื่องการติดต่อทนายอย่างไรและขอทนายสงเคราะห์ ในกรณีที่มีรายรายน้อย จะเขียนในโอกาสต่อไป) และถ้าหากคู่สมรสชาวต่างด้าว ไม่สามารรถสื่อสารเข้าใจภาษาราชการได้ สามารถแจ้งขอศาลให้จัดหาล่ามในวันขึ้นศาลได้ (ล่ามที่ใช้ในศาล ไม่สามารถนำไปเองได้) ส่วนการจะหาล่ามเพื่อบริการแปลที่สำนักงานทนายความ ในการขอรับคำปรึกษาหรือทำสัญญาข้อตกลงการแยกอยู่นั้น สามารถติดต่อหาล่ามเองได้ เช่นสอบถามจากคนรู้จักที่เคยใช้บริการล่าม หรือจากเว็บไซค์[6] ขององค์กรล่ามสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหาข้อมูลติดต่อใช้บริการล่ามอาชีพ
เอกสารที่จะต้องใช้ประกอบการยื่นเรื่องขอแยกกันอยู่ ต่อศาลมีดังต่อไปนี้
- สัญญาข้อตกลงการแยกกันอยู่ (ตัวอย่าง จากลิงค์เว็บไซค์ศาลเขต ซูริค ด้านล่าง[7] )
- ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (Familienausweis)
- หลักฐานรายได้ต่าง ๆ
- ใบแจ้งเงินเดือน
- หลักฐานแสดงทรัพย์สิน
- ค่าเช่า ที่อยู่อาศัย
- กรมธรรม์ประกันสุขภาพ (Krankenkassenpolice)
- หลักฐานแสดงการเสียภาษีครั้งสุดท้าย พร้อมรายละเอียด (Steuer; letzte Veranlagungsverfügung, inklusive Details)
- หลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเดินทางในการประกอบอาชีพ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนศึกษาต่อ ค่าใช้จ่ายเรียนพิเศษของลูก
สิ่งที่ควรคำนึง ในข้อตกลงการแยกกันอยู่
- ที่อยู่อาศัยของครอบครัว ว่าฝ่ายใดจะอยู่ต่อ หรือฝ่ายใดจะย้ายออก
- ค่าเลี้ยงดู แก่คู่สมรส หากอีกฝ่ายที่มีฐานะด้านเศรษฐกิจด้อยกว่า
- การแยกทรัพย์สิน และของใช้ภายในครัวเรือน
- บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของคู่สมรส จะต้องระบุข้อตกลงเรื่องบุตร และในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ สามารถให้ศาลเป็นผู้กำหนด ศาลจะพิจารณาตัดสิน ตามความเหมาะสม เช่นเรื่อง
- ที่อยู่อาศัยของบุตร และบุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายใด
- ค่าเลี้ยงดูอุปการะบุตร
- สิทธิในการเยื่ยมบุตร
- ค่าฤชาธรรมเนียมศาล และค่าทนายในการดำเนินเรื่องแยกกันอยู่
การแยกกันอยู่ มิได้หมายความว่า ความผูกพันทางกฎหมายระหว่างคู่สมรสจะหมดสิ้นไป ผลทางกฎหมายของการสมรส นั้นยังคงมีอยู่ รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ระหว่างกัน ดังต่อไปนี้
- คู่สมสร ยังคงมีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันต่อไป (ได้กล่าวไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 ตามประมวลกฏหมายแพ่งมาตรา 159 (ZGB Art. 159) )
- ในกรณีมีบุตรร่วมกัน[8] คู่สมรสยังคงมีอำนาจปกครองบุตรร่วมกัน
- การแยกกันอยู่ ไม่มีผลต่อเรื่องของทรัพย์สิน (เว้นเสียแต่ว่ามีการทำสัญญาคู่สมรส แยกทรัพย์สินระหว่างกัน)
- สิทธิการรับมรดก และสิทธิของการรับสวัสดิการประกันสังคมต่าง ๆ ของคู่สมสร ยังคงมีผลอยู่ เช่น เงินค่าประกันสวัสดิการประกันสังคมเมื่อเกษียณอายุงาน และสำหรับผู้อยู่เบื้องหลัง (Alters- und Hinterlassenenversicherung; คำย่อ AHV) และ เงินฝากเข้ากองทุนเงินสะสมสำหรับผู้ประกอบอาชีพ (Die berufliche Vorsorge; คำย่อ BVG)
- การเสียภาษี[9]จะ ต้องแยกกันจ่าย
แต่เมื่อคู่สมรส ไม่ต้องการจะใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกันอีกต่อไป โดยเลือกหนทางที่จะหย่าขาดจากกัน ข้อแตกต่างกันระหว่างกฏหมายของประเทศไทย กับประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้นคือ ขั้นตอนการหย่ ตามประมวลกฏหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์การหย่าขาดจากกันจะทำได้เมื่อศาลตัดสินให้หย่าขาดจากกันเท่านั้น คู่สมสรสามารถยื่นคำร้องไปยังศาลแพ่ง ในเขตที่พักอาศัยของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ได้ เมื่อศาลได้รับเรื่องแล้ว คู่สมรสจะต้องไปขึ้นศาลที่ได้ยื่นเรื่องไปเท่านั้น[10] การพริจารณาคดีไม่สามารถแยกพิจารณาได้ ตัวอย่าง เช่น นางสวย มีที่พักอาศัยอยู่เมืองเบิร์น(Bern) แยกกันอยู่กับสามี นายปีเตอร์ย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่เมืองซูริค (Zürich) ต่อมานายปีเตอร์ ต้องการที่จะหย่าขาดจากนางสวย จึงยื่นเรื่องไปยังศาลเขต เมืองซูริค นางสวยก็ต้องเดินทางไปขึ้นศาลที่เมืองซูริค นางสวยจะยื่นเรื่องให้มีการพิจารณาที่เบิร์นไม่ได้ และในทางกลับกันก็เข่นเดียวกัน
วิธีการหย่านั้นสามารถกระทำได้ดังนี้
- การหย่าโดยความยินยอมสมัครใจของทั้งสองฝ่าย [11] (ZGB Art.111) สามารถกระทำได้ตลอดเวลา
- การฟ้องหย่า หลังจากคู่สมรสแยกกันอยู่ครบระยะเวลานาน 2 ปี[12] (ZGB Art.114) ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถฟ้องหย่าได้ โดยที่อีกฝ่ายไม่สามารถปฏิเสธได้
- ฟ้องหย่าเนื่องจากมีสาเหตุที่ไม่สามารถทนต่อไปได้[13] (ZGB Art.115) เช่นในกรณี ที่โดนข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกาย จิตใจอย่างรุนแรง
นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว เหตุแห่งการสิ้นสุดการสมรสจะเกิดขึ้น เมื่อคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย หรือศาลเพิกถอนการสมรส ในการหย่านั้นไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลแก่ศาลว่าเ พราะอะไรจึงต้องการหย่ากัน ตามประมวลกฏหมายประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นแตกต่างจากประเทศไทยอีกข้อหนึ่งคือ การฟ้องหย่า ในกรณีที่สามีเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันท์ภริยาหรือภริยามีชู้ ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าได้ (ที่ประเทศไทย สามารถนำมาเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา ๑๕๑๖)
เอกสารที่จะต้องเตรียมในการยื่นเรื่องขอหย่าต่อศาลนั้น คล้ายกับเอกสารกรณีแยกกันอยู่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่จะมีสิ่งเพิ่มเติม คือ
- หลักฐานเงินฝากเข้ากองทุนประกันสวัสดิสังคมเมื่อเกษียณอายุงาน และสำหรับผู้อยู่เบื้องหลัง
(Alters- und Hinterlassenenversicherung; คำย่อ AHV)
- หลักฐานเงินฝากเข้ากองทุนเงินสะสมสำหรับผู้ประกอบอาชีพ (Die berufliche Vorsorge; คำย่อ BVG)
- สัญญาคู่สมรส (Ehevertrag) ถ้ามี
ทั้งนี้เงินฝากประกันสวัสดิการสังคม ทั้งสองกองทุน (AHV, BVG) นี้จะนำมาคำนวนแบ่งให้แก่คู่สมรสแต่ละฝ่ายคนละครึ่งหลังจากหย่าขาดจากกันแล้ว ซึ่งเป็นกฏบังคับตามกฏหมาย โดยทั่วไปแล้วการตัดสิทธิการรับส่วนแบ่ง หรือสละสิทธิการรับเงินฝากจากกองทุนทั้งสองนี้ ไม่สามารถทำได้ในการทำสัญญาคู่สมรส[14] (Ehevertrag) เหมือนเช่น ทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ เช่น เงินลงทุน เงินฝากออมทรัพย์ หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ฯ การคำนวนแบ่งเงินฝากจากกองทุนทั้งสองนี้นั้นจะคำนวนโดยเริ่มนับตั้งแต่ วันที่จดทะเบียนสมรส ไปจนถึง ณ วันที่ยื่นเรื่องขอหย่า ตามประมวลกฏหมายแพ่ง[15] มาตรา112, 123 (ZGB Art.122,123) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2017 (ตามกฏหมายเก่าคำนวนถึง ณ วันที่ศาลตัดสินหย่า) ตัวอย่าง เช่น นางสวย อายุ 32 ปี พบรักกันที่ประเทศไทยกับนายปีเตอร์ ชาวสวิส อายุ 37 ปี และแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 14. กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 ที่ประเทศสวิตฯ ต่อมามีปัญหาครอบครัวหลังจากแต่งงานได้ไม่นาน ทั้งคู่ตัดสินใจแยกบ้านกันอยู่ในปี ค.ศ 2015 อีก 2 ปีต่อมานายปีเตอร์พบรักใหม่และต้องการที่จะยื่นเรื่องฟ้องหย่าขาดจากนางสวย หลังจากแยกกันอยู่ครบสองปี ในปี ค.ศ. 2017 ตามประมวลกฏหมายแพ่ง มาตรา 114 (ZGB Art. 114) รวมระยะเวลาสมรสทั้งสิ้น 4 ปี ระหว่างที่จดทะเบียนสมรสนั้น นางสวยมีอาชีพเป็นแม่บ้านและทำงานเพิ่มขึ้นหลังจากแยกกันอยู่ นางสวยมีเงินฝากสะสม เข้ากองทุน AHV และ BVG ทั้งสิ้นจำนวน 10,000 สวิสฟังก์ ส่วนนายปีเตอร์นั้นทำงานมาตลอดระยะเวลา 4 ปี มีเงินฝากสะสม จำนวณ 70,000 สวิสฟรังก์ รวมยอดเงินฝากสะสมของทั้งสองฝ่ายเป็น 80,000 สวิสฟรังก์ ศาลคำนวนโดยการนำเงินฝากสะสมของทั้งสองฝ่าย มาหารสองและแบ่งให้ทั้งคู่คนละ 40,000 สวิสฟรังก์ เพื่อเข้ากองทุนเงินฝากสะสมของแต่ละฝ่าย (เงินฝากสะสมเข้ากองทุนสวัสดิการนี้ไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้ในกรณีทั่วไป สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ahv-iv.ch/de/Sozialversicherungen และ https://www.admin.ch/opc/de/classified-compilation/19820152/index.html)
นอกเหนือจากเรื่อง สิทธิการได้รับเงินฝากเข้ากองทุนสวัสดิการสังคมดังกล่าว ข้างต้นแล้ว จะมีการแบ่งทรัพย์สิน และเรื่องหนี้สิน(ถ้ามี) ของคู่สมรส โดยคำนวนจากระยะเวลาการจดทะเบียนสมรสจนถึง ณ วันที่ยื่นเรื่องหย่า ตลอดทั้งเรื่องการจ่ายค่าอุปกระเลี้ยงดูให้กับอีกฝ่าย ที่มีฐานะทางด้านการเงินด้อยกว่า โดยคู่สมรสสามารถระบุข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในหนังสือประกอบการยื่นเรื่องต่อศาล และหากมีข้อใดไม่สามารถตกลงกันได้ ก็สามารถระบุให้ศาลเป็นผู้พิจารณาต่อไปได้เช่นกัน และถ้าหากกรณีมีบุตรร่วมกัน จะต้องทำสัญญาข้อตกลง เพิ่มเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้
- สถานที่อยู่ของเด็ก ลูกจะอยู่กับใครเป็นส่วนใหญ่ (Aufenthaltsort des Kindes)
- อำนาจปกครองบุตร และสิทธิการเยื่ยมบุตร (Sorge- und Besuchsrecht)
- ค่าเลี้ยงอุปการะเลี้ยงดูบุตร (Kinderalimente)
แสดงภาพ การยื่นเรื่องดำเนินการต่อศาลเพื่อขอแยก / หย่า ของคู่สมรส
หลายท่านคงจะมีคำถามว่า แล้วบางคนระหว่างที่แต่งงานนั้นมีอาชีพเป็นแม่บ้านอย่างเดียว หรืออาจทำงานบ้าง แต่มีเงินเดือนไม่มาก ผิดกับที่สามีมีเงินเดือนมากกว่า(หรืออาจกลับกัน) จะได้รับค่าอุปการระเลี้ยงดูนานและมากเท่าไร หรือจะมีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินอะไรบ้าง เรื่องทรัพย์สินนั้นถ้าหากคู่สมรสไม่ได้ทำสัญญาแยกทรัพย์สิน(Gütertrennung)ระหว่างกันไว้ ศาลจะพิจารณาแบ่งทรัพย์สิน ตามกฏหมายว่าด้วยเรื่องสินสมรส[16] (Errungenschaftsbeteiligung) และสำหรับฝ่ายที่มีฐานะทางเศษรฐกิจด้อยกว่านั้น ตามประมวลกฏหมายแพ่ง มาตรา 125[17] (ZGB Art. 125) ได้ระบุเงื่อนไขข้อพิจารรณาถึงสิทธิการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ดังนี้
- การแบ่งหน้าที่ระหว่างสมรส
- ระยะเวลาของการสมรส
- ฐานะของคู่สมรสระหว่างการสมรส
- อายุ และสุขภาพของคู่สมรส
- รายได้และทรัพย์สิน ของคู่สมรส
- ในกรณีมีบุตรร่วมกัน จะต้องดูแลบุตรอีกนานเท่าใด
- โอกาสในการศึกษาอาชีพ และการประกอบอาชีพของคู่สมรส
จะเห็นได้ว่าสิทธิการได้รับเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายเป็นระยะเวลา และจำนวนเท่าไรนั้น จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้างต้น ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ทั้งนี้ศาลจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายตามความเหมาะสมแก่ฐานะ หลังจากที่ได้หย่าขาดจากกันแล้ว และถ้าหากฝ่ายที่มีหน้าต้องรับผิดชอบจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู ไม่ทำตามสัญญาข้อตกลงตามที่ศาลได้ตัดสินไว้ ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบก็สามารถยื่นเรื่องฟ้องศาลให้บังคับอีกฝ่ายทำตามหน้าที่ได้[18] และถ้าหากว่าได้รับเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เนื่องจากอีกฝ่ายไม่มีศัพยภาพที่จะจ่ายได้ ท่านสามารถไปขอความช่วยเหลือจากสำนักงานสังคมสงเคราะห์ (Sozialdienst) ในเขต ที่พักอาศัยได้ต่อไป
การสิ้นสุดสิทธิการได้รับค่าเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายตามกฏหมาย[19] มาตรา 130 (ZGB Art. 130) สิทธินี้จะหมดลงในกรณีดังต่อไปนี้
- ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชวิต
- ฝ่ายที่มีสิทธิได้รับค่าค่าอุปการระเลี้ยงดู จดทะเบียนสมรสใหม่
ผลหลังจากหย่า
- การสมรสสิ้นสุดลง
- หมดสิทธิ์ในการรับมดกของอีกฝ่าย [20]
- หมดสิทธิ์ในการรับเงินประกันสังคมของอีกฝ่าย[21]
- ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส ต้องนำมาแบ่งกัน [22]
- สามารถจดทะเบียนสมรสใหม่ได้ทันที หลังจากหย่า[23]
สำรับคู่สมรสชาวต่างด้าวที่มาจากประเทศที่ 3 (ในที่นี้หมายถึงประชากรที่ไม่ได้มาจากสหภาพยุโรป) จะมีเรื่องสิทธิพำนักในประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลังจากหย่าเข้ามาเกี่ยวข้อง ว่าจะมีสิทธิได้รับต่อใบอนุญาตพำนัก (Aufenthaltsbewilligung หรือ บางทีเรียกว่า Ausweiss B) ในประเทสสวิตฯได้ต่อไปหรือไม่
กฏหมายแห่งสมาพันธ์รัฐสวิส เกี่ยวกับบุคลชาวต่างด้าว มาตรา 50[24] (Ausländergesetz; AuG Art. 50) ระบุว่า ชาวต่างด้าวจะได้รับการต่อใบอนุญาตพำนักให้อยู่ในประเทศสวิตฯ ต่อไปได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ กล่าวโดยสรุปดังนี้
- จะต้องจดทะเบียนสมรส และใช้ชีวิตอยู่ในครัวเรือนเดียวฉันท์สามีภรรยารวมระยะเวลาเป็นอย่างน้อย 3 ปี ขึ้นไป(ถ้าระยะเวลาน้อยกว่านี้ ไม่สามารถอยู่ต่อได้)
- ประสบความสำเร็จในเรื่องของการบรูณาการ (เช่น ปรับตัวเข้ากับสังคม มีความสามารถด้านภาษาในการสื่อสาร มีสังคมที่สวิตฯ มีงานทำสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีที่อยู่อาศัย ไม่เป็นภาระต่อสังคม และไม่เป็นอันตรายต่อประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
- มีเหตุผลส่วนตัวสำคัญ ที่จะต้องดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป (เช่น มีลูกร่วมกันกับสามีที่จดทะเบียนสมรส หรือไม่สามารถกลับประเทศเดิมได้เนื่องจาก ภาวะสงคราม หรือมีความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิต เป็นต้น)
- มีสาเหตุสำคัญส่วนตัว เนื่องจากสาเหตุที่หย่ามาจากความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งคู่สมรสเป็นผู้กระทำ
การกล่าวอ้างว่า ข้าพเจ้าจะพยายามปรับตัวเข้ากับสังคม กำลังเรียนภาษาอยู่ มีงานทำเลี้ยงตัวแองได้โดยไม่ต้องพึงความช่วยเหลือจากสำนักงานสังคมสงเคราะห์ หรือหากจะต้องกลับไปเมืองไทย จะทำให้ยากจนลำบากขึ้นกว่าเก่า หรือไม่มีโอกาสที่จะหางานทำได้เพราะจากประเทศไทยมานาน การยกคำกล่าวอ้างเหล่านี้ ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลในการยื่นเรื่องคัดค้าน คำตัดสินของหน่วยงานรัฐที่ดูแลควบคุมการออกใบอนุญาตพำนักให้แก่คนต่างด้าวนั้นได้ และเหตุผลทางด้านเศรษรฐกิจ หรือความลำเค็ญเหล่านี้ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลเพื่อให้ได้รับพิจารณาต่อใบอนุญาตพำนักในประเทสสวิตเซอร์แลนด์ต่อไปได้แต่ประการใด
การแยกกันอยู่หรือหย่าในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีหลายขั้นตอน แตกต่างจากประเทศไทย ยกตัวอย่างในเรื่องของการฟ้องหย่าในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องใช้ระยะเวลา และความอดทนมากทีเดียวโดยเฉพาะด้านจิตใจ ทั้งนี้ในส่วนของกฏหมายได้ระบุ และบังคับใช้ให้เป็นไปเพื่ออำนวยสิทธิประโยชน์ และดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรร่วมกัน ในการพิจารณาศาลครอบครัวจะคำนึงถึงความผาสุกของเด็กเป็นสำคัญ หลายคู่ที่หลังจากแยกทางเดินชีวิตจากกันแล้ว ยังสามารถเป็นมิตรที่ดีต่อกันได้ หรือยังคงมีบทบาทความเป็นพ่อและแม่ที่ดีของลูกได้ต่อไป ในยุคปัจจุบันนี้สังคมได้เปิดกว้าง และมีการยอมรับมากขึ้น การแยกกันอยู่หรือหย่านั้นไม่ได้หมายความว่าชีวิตคู่ล้มเหลว เพียงแต่ว่าทัศนคติไม่ตรงกัน หรือว่าอาจจะยังไม่ใช่ “คนที่ใช่” จึงไปด้วยกันไม่ได้
............................
บรรณานุกรม
[1] กระทรวงสถิติแห่งชาติ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Bundesamt für Statistik ; https://www.bfs.admin.ch/bfs/de/home/statistiken/bevoelkerung/heiraten-eingetragene-partnerschaften-scheidungen/scheidungshaeufigkeit.assetdetail.3442668.html
[2] ป ระมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art 175 Schutz der ehelichen Gemeinschaft
[3] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 172 Absatz2 K. Schutz der ehelichen Gemeinschaft / II. Gerichtliche Massnahmen
[4] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 172 Absatz3K. Schutz der ehelichen Gemeinschaft / II. Gerichtliche Massnahmen
[5] ลิงค์เว็บไซค์ศาลแพ่ง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ http://www.zivilgerichte.ch/de/
[6] ลิงค์รายชื่อล่ามอาชีพ จากองค์การล่ามประเทศสวิตเซอร์แลนด์ http://www.inter-pret.ch/de/angebote/datenbank-der-dolmetschenden-41.html
[7] ตัวอย่างสํญญาข้อตกลงการแยกกันอยู่ ประเภทต่าง จาก ศาลเมือง ซูริค http://www.gerichte-zh.ch/themen/ehe-und-familie/eheschutz/mustervereinbarungen.html
[8] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 176 Absatz 3
[9] ประมวลกฏหมายภาษี Bundesgesetz über die Harmonisierung der direkten Steuern der Kantone und Gemeinden (StHG)
[10] ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Zivilprozessordnung; ZOP (Örtliche Zuständigkeit (Gerichtsstand))
[11] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 111 Scheidung auf gemeinsames Begehren
[12] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 114 Scheidungsklage nach zwei Jahren Trennungszeit
[13] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art 115 Scheidungsklage wegen Unzumutbarkeit
[14] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Art. 124b1D. Berufliche Vorsorge / V. Ausnahme
[15] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art.122, 123 Berufliche Vorsorge, Ausgleich bei Austrittsleistungen
[16] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 181 A. Ordentlicher Güterstand
[17] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 125 E. Nachehelicher Unterhalt / I. Voraussetzungen
18 ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 132 Nachehelicher Unterhalt / IV. Vollstreckung / 3. Anweisungen an die Schuldner und Sicherstellung
19 ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 130 E. Nachehelicher Unterhalt / III. Rente / 4. Erlöschen von Gesetzes wegen
[20] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 120 B. Güterrecht und Erbrecht
[21] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 122 Berufliche Vorsorge / I. Grundsatz
[22] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 120 B. Güterrecht und Erbrecht
[23] ประมวลกฏหมายแพ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ZGB Art. 96 Ehehindernisse / II. Frühere Ehe
[24] ประมวลกฏหมายคนต่างด้าวประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Ausländergesetz; AuG Art. Art. 50 Auflösung der Familiengemeinschaft